ขั้นตอนหลังพิมพ์ Post-press

Last updated: 4 ก.ย. 2567  |  121 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ขั้นตอนหลังพิมพ์ Post-press

 Post Press งานหลังพิมพ์ คืออะไร?
งานหลังพิมพ์เป็นส่วนผลิตสุดท้ายที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตงานพิมพ์มากที่สุด เราจึงเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับส่วนงานหลังพิมพ์เป็นพิเศษ เพื่อให้งานพิมพ์ที่ผลิตมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุดต่อลูกค้า ทางเราจึงได้มีการเสริมเครื่องจักรในจุดต่าง ๆ ของงานหลังการพิมพ์ เช่น เครื่องหุ้มปกอัตโนมัติ, เครื่องหุ้มกล่องอัตโนมัติ, เครื่องปั๊มขนาดใหญ่ (28”x40”), เครื่องเก็บ+เย็บ+ตัดในตัว เป็นต้น เราจำแนกประเภทงานหลังพิมพ์ไว้ ดังนี้

 การเคลือบผิว
เคลือบเงาเฉพาะจุด (Spot UV)
เป็นการเคลือบน้ำยาเฉพาะจุด ต่างกับการเคลือบยูวี เพราะต้องมีอุปกรณ์ เช่น บล็อคหรือแม่แบบที่ออกแบบเพื่อให้ได้ขนาดและสัดส่วนเฉพาะจุดที่ต้องการลงน้ำยาเคลือบ ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับชิ้นงานโดยทั่วไปมักนิยมเคลือบผิวงานสิ่งพิมพ์ด้วยการเคลือบลามิเนตด้านและจะ SPOT UV ทับอีกครั้งช่วยให้งานสิ่งพิมพ์มีลักษณะเฉพาะขึ้น เช่น ตัวอักษรสำคัญ ภาพที่ต้องการเน้นลูกค้าของโรงพิมพ์มักให้เคลือบพีวีซีด้านทั้งแผ่น ก่อนเคลือบเฉพาะจุด ซึ่งทำให้ชิ้นงานออกมาดูสวยงาม


เคลือบ OPP เงา
เคลือบผิวกระดาษด้วยฟิล์ม OPP ที่มีผิวมันวาว ให้ความเงาสูง และเงากว่าการเคลือบแบบยูวีแต่ต้นทุนสูงกว่า มีลูกค้าโรงพิมพ์ใช้พอสมควร

เคลือบ OPP ด้าน
เคลือบผิวกระดาษด้วยฟิล์ม OPP ที่มีผิวด้านคล้ายผิวของกระจกฝ้าแต่สามารถมองผ่านทะลุถึงภาพพิมพ์ได้ ให้ผลลัพธ์ที่ดี และนิยมใช้กันมาก ลูกค้าของโรงพิมพ์มักให้ทำเคลือบเงาเฉพาะจุดควบคู่ไปด้วย

เคลือบยูวีเงา / ยูวีด้าน
เคลือบผิวกระดาษด้วยน้ำยาเงาและทำให้แห้งด้วยแสงยูวี ให้ความเงาสูงกว่าแบบวานิช เพื่อเพิ่มความมันเงาและสีสันให้กับสิ่งพิมพ์ รวมถึงป้องกันการขีดข่วนหากสิ่งพิมพ์นั้นมีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอนเหมาะกับงานพิมพ์ที่ต้องการโชว์ความสวยงามของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากต้นทุนราคาเคลือบถูก รวดเร็ว อีกทั้งเป็นงานเคลือบสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป การเคลือบยูวีด้านก็เช่นเดียวกันแต่เป็นการเคลือบผิวกระดาษที่ออกมามีผิวด้าน

เคลือบวานิช
เคลือบผิวกระดาษให้เงาด้วยวานิช ให้ความเงาไม่สูงมาก โรงพิมพ์แนะนำใช้เพื่อป้องกันหมึกพิมพ์และผิวกระดาษจากการเสียดสีและให้ความเงางาม

เคลือบวานิชด้าน
เคลือบผิวกระดาษด้วยวานิชแบบหนึ่งทำให้ดูผิวด้าน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่ค่อยให้ความแตกต่างจากวานิชธรรมดาเท่าใดนัก ลูกค้าและโรงพิมพ์จึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน

เคลือบวานิชแบบ Water Based Varnish
เคลือบผิวกระดาษให้เงาด้วยวานิชชนิดใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย

เคลือบ Hologram
เป็นการเคลือบผิวสิ่งพิมพ์ด้วยฟิล์มพลาสติกเช่นเดียวกับการเคลือบลามิเนตแต่ต่างกันที่คุณสมบัติของเนื้อฟิล์มที่นำมาใช้มีลวดลายหรือลูกเล่นทำให้งานสิ่งพิมพ์มีสีสันสวยงาม ดูแปลกตา

 การปั๊มต่าง ๆ


การรีด/ปั๊มแผ่นฟลอยด์ (Hot Stamping)

ได้แก่ การปั๊มด้วยความร้อนให้แผ่นฟลอยด์ไปติดบนชิ้นงานเป็นรูปตามแบบปั๊มมีทั้งการปั๊มฟลอยด์เงิน/ทอง ฟลอยด์สีต่าง ๆ ฟลอยด์ลวดลายต่าง ๆ ฟลอยด์โฮโลแกรม เป็นต้น

การปั๊มนูน/ปั๊มลึก (Embossing/Debossing)
คือการปั๊มให้ชิ้นงานนูนขึ้นหรือลึกลงจากผิวเป็นรูปร่างตามแบบปั๊ม เช่น การปั๊มนูนตัวอักษร สัญลักษณ์

การขึ้นรูป (Forming)
ได้แก่ การตัดเจียน เช่น งานทำฉลาก การขึ้นเส้นสำหรับพับ การปั๊มเป็นรูปทรง/การไดคัท เช่นงานทำกล่อง งานเจาะหน้าต่างเป็นรูปต่าง ๆ การทากาวหรือทำให้ติดกัน เช่น งานทำกล่อง งานทำซองการหุ้มกระดาษแข็ง เช่น งานทำปกแข็ง งานทำฐานปฏิทิน

ปั๊มทองเค
เป็นการปั๊มแผ่นฟลอยด์ด้วยความร้อนติดกับงานสิ่งพิมพ์ตามรูปแบบที่ได้ทำแม่พิมพ์ไว้เพื่อเพิ่มความโดดเด่นให้กับชิ้นงาน ต้องอาศัยประสบการณ์และความสามารถ การผลิตเป็นที่นิยม เช่นการ์ดแต่งงาน ประกาศนียบัตร นามบัตร ปัจจุบันมีฟลอยด์หลากหลายสีให้ได้เลือกใช้


 การไดคัท
เป็นการเพิ่มความสวยงามให้กับงานพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นงานพิมพ์ด้วยระบบดิจิตอลหรืองานพิมพ์ออฟเซ็ทสามารถทำได้ งานไดคัทเป็นการปั๊มกระดาษ ออกเป็นชิ้นงานในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการออกแบบโดยใช้ใบมีดดัดโค้งงอเป็นแม่แบบ (บล็อค) แล้วจึงปั๊มไดคัทตามรูปแบบ เช่น ไดคัทรูปดาว ไดคัทมุมมนนามบัตร บัตรเข้างานหรือไดคัทการ์ด ปั๊มสติ๊กเกอร์ งานกล่องกระดาษ ต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญในการปรับตั้งเครื่อง เพื่อให้ได้จังหวะการไดคัทหรือการถ่ายเทน้ำหนักจากบล็อคสู่งานพิมพ์ให้ได้พอดี แต่ไม่ให้กระดาษแตกหรือฉีกขาด

 การเข้าเล่ม


การทำรูปเล่ม (Book Making)
เป็นขบวนการสำหรับทำงานประเภทสมุด หนังสือ ปฏิทิน กระดาษติดปลิว ฯลฯ มีขั้นตอน คือ

การตัดแบ่ง : เพื่อแบ่งงานพิมพ์ที่ซ้ำกันในแผ่นเดียวกัน
การพับ       : เพื่อพับแผ่นพิมพ์เป็นหน้ายก
การเก็บเล่ม : เพื่อเก็บรวมแผ่นพิมพ์ที่พับแล้ว/หน้ายก มาเรียงให้ครบเล่มหนังสือ
การเข้าเล่ม  : เพื่อทำให้หนังสือยึดติดกันเป็นเล่ม มีวิธีต่าง ๆ คือ การเย็บด้วยลวด เย็บมุงหลังคา การไสสันทากาว

การเข้าเล่มมีหลายประเภท เช่น การเย็บกี่ทากาว การเย็บกี่หุ้มปกแข็ง การเจาะรูร้อยห่วง เมื่อผ่านการยึดเล่มติดกันก็นำชิ้นงานมาตัดเจียนขอบสามด้านให้เรียบเสมอกันและได้ขนาดที่ต้องการ (ยกเว้นงานที่เย็บกี่หุ้มปกแข็งและงานที่เจาะรูร้อยห่วงจะผ่านการตัดเจียนก่อนเข้าเล่ม)

เย็บมุงหลังคา : กรรมวิธีการยึดเล่มหนังสือให้ติดกันโดยใช้ลวดเย็บที่สันหนังสือด้วยเครื่องเย็บปกติโรงพิมพ์จะแนะนำเย็บ 2 จุด โดยมีระยะห่างกันพอประมาณเพื่อไม่ให้เนื้อในแต่ละแผ่นขยับไปมา

ไสสันทากาว : กรรมวิธีในการยึดเล่มหนังสือให้ติดกันโดยการไสสันหนังสือด้วยเลื่อยเหล็กเสร็จแล้วทากาวที่สัน นำปกมาหุ้มติดกับตัวเล่ม ปัจจุบันโรงพิมพ์จะใช้เครื่องไสสันทากาวอัตโนมัติ

เย็บกี่หุ้มปกแข็ง : กรรมวิธีคล้ายกับเย็บกี่ทากาว ต่างกันตรงที่มีขั้นตอนการนำกระดาษแข็งหนามาหุ้มด้วยกระดาษบางที่มีภาพพิมพ์หรือกระดาษ/ผ้าสำหรับทำปก แล้วจึงนำปกมาติดกับตัวเล่ม.......


Cr. printtosme.com
Cr. caspaper.com

 

ดาวน์โหลดบทความนี้   


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้