การพิมพ์ระบบอิงค์เจ็ท (Inkjet Printing)

Last updated: 4 ก.ย. 2567  |  3486 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การพิมพ์ระบบอิงค์เจ็ท (Inkjet Printing)

ระบบการพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท จะใช้เครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก โดยหลักการทำงานหลักก็คือ ตัวหัวพิมพ์จะพ่นหมึกออกมาเป็นหยดเล็ก ๆ ลงบนกระดาษ และพ่นสีหมึกตามรูปแบบของไฟล์งานที่ได้สั่งพิมพ์ไป ข้อดีของ Inkjet ก็คือ ทำให้ภาพออกมาชัดเจน สามารถพิมพ์ได้ทั้งงานขนาดเล็ก และงานขนาดใหญ่ ความทนทานสูง สามารถทนแดด ทนฝนได้ นอกจากนี้ การพิมพ์ด้วยระบบอิงค์เจ็ทยังสามารถใช้งานร่วมกับงานพิมพ์ หรือสื่อโฆษณาแบบนอกอาคาร (Outdoor) ได้ด้วย จากจุดเด่นที่ทนทานต่อสภาพอากาศนี่เอง แต่ถ้าเป็นงานขนาดใหญ่ ความคมชัด และความละเอียดอาจจะลดลงตามขนาดที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย

ข้อควรรู้ก่อนการพิมพ์
01-อิงค์เจ็ทเป็นเครื่องพิมพ์แบบระบบหมึกพ่น มีสีหลัก 4 สี คือ แดง (Magenta) เหลือง (Yellow) น้ำเงิน (Cyan) และ ดำ (Black) เครื่องพิมพ์บางรุ่น เช่น Hewlett Packard อาจเพิ่มสี ฟ้า (Light Cyan) และ ชมพู (Light Magenta) เพื่อทำให้การพิมพ์ภาพละเอียดและมีมิติมากขึ้น

02-เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทถูกสั่งงานโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ ลักษณะเดียวกับเครื่องปริ้นเตอร์อิงค์เจ็ทในบ้านเรานั่นแหละ ดังนั้นงานอิงค์เจ็ทจึงไม่ต้องมีการทำเพลทสีเหมือนระบบซิลค์สกรีน หรือระบบออฟเซ็ท หากลูกค้าท่านใดไปร้านพิมพ์อิงค์เจ็ทแล้วโดนชาร์จค่าทำเพลทเท่านั้นเท่านี้ ขอบอกเลยว่า ท่านกำลังถูกหลอกแล้วล่ะ           
                                        
03-ถึงแม้ว่าเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทจะทำงานแบบเดียวกับเครื่องพริ้นเตอร์ในบ้าน แต่เนื่องจากงานพิมพ์ภาพขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ Software เฉพาะด้านเพื่อให้ภาพยังคงรักษาคุณภาพและความละเอียดไว้ได้ ดังนั้นไฟล์งานสำหรับใช้กับเครื่องอิงค์เจ็ทจึงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ไฟล์งานหลัก ๆ ที่สามารถใช้กับเครื่องอิงค์เจ็ทขนาดใหญ่ได้แก่ ไฟล์ .ai , .eps , .psd , .pdf, .jpg , .png , .tiff ฯลฯ ไฟล์งานของ Microsoft Office ทั้งหมดจะต้องถูกแปลงเป็นไฟล์เหล่านี้เสียก่อน   

04-"รูปภาพแตกได้อย่างไร? ใน Artwork ก็ไม่เห็นแตกนี่" งานกราฟิกนั้นมีอยู่ 2 แบบหลัก ๆ คืองานวาดเส้นเติมสีด้วยตัวเราเอง ส่วนใหญ่จะใช้ Software Illustrator งานเหล่านี้เรียกว่าไฟล์ Vector ส่วนอีกแบบหนึ่งคืองานภาพถ่าย (Pixellet Photo) หรือภาพอะไรก็ตามที่ได้มาจากการถ่ายรูป งานภาพพิมพ์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากไฟล์ 2 ประเภทนี้แหละ ไฟล์ Vector นั้นจะถูกขยาย ร้อยเท่าพันเท่า ภาพก็ไม่แตก แต่ในทางตรงข้าม ไฟล์ Photo จะถูกลดความละเอียดของภาพ ทุกครั้งที่เราขยายจากภาพต้นฉบับ ดังนั้น ภาพแตกหรือไม่แตกจึงขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่างคือ

ปัจจัยที่ 1 ภาพต้นฉบับที่เราถ่ายมามีขนาดใหญ่เท่าไร
ปัจจัยที่ 2 ภาพพิมพ์อิงค์เจ็ทที่เราต้องการมีขนาดเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น เราถ่าพภาพมาจากกล้องโทรศัพท์มือถือขนาด 1 MB และต้องการขยายให้ได้ขนาดเท่าป้ายบิลบอร์ด 20x20 เมตร อย่างนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาพจะแตก แต่ถ้าเอาภาพเดียวกันมาทำโปสเตอร์ขนาด  60 x 80 ซม. การแตกของภาพก็ยังมีอยู่ แต่ว่าน้อยมากจนสายตาเรามองไม่เห็น     

05-หากสีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับงานของลูกค้า เช่น สี Identity ของโลโก้ สี Identity ของผลิตภัณท์ ขอแนะนำให้มีการปรู๊พสีก่อนสั่งงานพิมพ์ทุกครั้ง ถึงแม้จะมีการสั่งงานซ้ำ (Reprint) หลายครั้งแล้วก็ตาม เนื่องจากการพิมพ์อิงค์เจ็ทเป็นการพิมพ์ระบบหมึกพ่นผสมสี ซึ่งโอกาสที่สีจะผิดเพี้ยนมีมากกว่าระบบออฟเซ็ท และซิลค์สกรีน การสั่งงานให้พิมพ์โดยอ้างอิงจากสี Pantone โดยไม่มีการปรู๊ฟสี ได้สร้างความเสียหายมาสู่ลูกค้าและผู้พิมพ์มานักต่อนักแล้ว.......

ดาวน์โหลดบทความนี้   


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้